พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์


ณ ดินแดน ที่เป็นเสมือนทิพย์วิมาน ในเทพนิยาย หรือ สวรรค์บนพื้นแห่งพิภพยามเช้าในฤดูหนาว กลุ่มสายหมอก จะลอยพาดผ่านยอดดอยแห่ง พระตำหนักฯ หมู่มวลดอกไม้นานาพันธุ์ จะคลี่กลีบดอกงามรับสายหมอก และท่ามกลางแสงแห่งตะวัน ดอกกุหลาบหลากสีต่างเบ่งบาน กลีบอันสดใส ดูแล้วงดงาม ซึ่งยากยิ่งในอันที่จะพบได้จากที่แห่งใด ในผืนแผ่นดินไทย นอกจาก ณ พระตำหนักแห่งนี้ “พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์”

พระราชนิเวศน์แห่งนี้ ตั้งอยู่บนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ความสูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๓๗๓.๑๙๗ เมตร ในเนื้อที่โดยรอบพระตำหนักประมาณ ๔๐๐ ไร่ นั้น แบ่งเป็นบริเวณที่ เปิดให้นักท่องเที่ยว ได้ชื่นชมประมาณ ๒๐๐ ไร่ คำว่า “ดอยบวกห้า” เป็นชื่อเรียก ตามคำพื้นเมือง ดอยหมายถึงภูเขา บวกหมายถึง หนองน้ำ ห้าหมายถึงต้นหว้า หมายความว่า ที่ยอดดอยแห่งนี้มี หนองน้ำอุดมไปด้วยต้นหว้าขึ้นปกคลุมทั่วบริเวณหนองน้ำนั้น พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ในปีพ.ศ. ๒๕๐๔ และพระราชทานนาม พระตำหนักองค์นี้ว่า ภูพิงคราชนิเวศน์ โดยทรงเลือกจาก หนึ่งใน ๒ ชื่อ ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งเป็นที่ พระศาสนโสภณ เป็นผู้คิดชื่อถวาย คือ “พิงคัมพร” กับ “ภูพิงคราชนิเวศน์” พระตำหนักแห่งนี้ ใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรม ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทรงงาน และเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตภาคเหนือ รวมทั้งเพื่อรับรองพระราชอาคันตุกะที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในโอกาสต่างๆ การที่ทรงเลือกสร้างที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีอากาศเย็นสบาย ภูมิประเทศสวยงาม อีกทั้งเคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน ผู้คนพลเมืองยังดำรงรักษาจารีตขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามไว้

พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ มีลักษณะเป็นแผนผังแบบเรือนไทยภาคกลางที่เรียกว่า “เรือนหมู่” มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นไทยประเพณีประยุกต์ ก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูงหลังคาทรงไทย ภายในประกอบไปด้วยท้องพระโรง ห้องเสวย ห้องบรรทม และห้องสรง สำหรับพระราชอาคันตุกะ ตั้งอยู่คนละด้าน มีเฉลียงใหญ่ และพลับพลาหอนกเป็นที่ประทับทอดพระเนตรทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่ ชั้นบนเป็นที่ประทับ ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของมหาดเล็ก และคุณข้าหลวง ออกแบบแปลนโดยหม่อมเจ้า สมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกพิเศษ กรมศิลปากร ออกแบบรูปด้าน โดยหม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ เกษมศรี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์ดำเนินการก่อสร้าง โดยมีหม่อมเจ้า สมัยเฉลิม กฤดากร เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี และนายประดิษฐ์ ยุวพุกกะ จากกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรเป็นผู้ช่วย และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกหลวงกัมปนาท แสนยากร องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ในการวางศิลาฤกษ์พระตำหนักเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๔๙ นาที

การก่อสร้างพระตำหนักใช้เวลา ๕ เดือนก็แล้วเสร็จ จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี เป็นทั้งสถาปนิก และมัณฑนากรออกแบบ ตกแต่ง ภายในพระตำหนัก ทั้งในส่วนที่ประทับและส่วนที่ใช้รับรอง พระราชอาคันตุกะทั้งหมด โดยออกแบบให้เป็นแบบไทยประยุกต์ ดัดแปลงให้เหมาะสมกับการใช้แบบสากลมากขึ้น และได้ใช้พระตำหนัก ในการรับรองพระราชอาคันตุกะ เป็นครั้งแรกคือ สมเด็จพระเจ้าเฟรดเดริคที่ ๙ และ สมเด็จพระราชินีอินกริด แห่งเดนมาร์ก เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๐๕ หลังจากนั้นก็มีประมุขของประเทศต่าง ๆ เป็นพระราชอาคันตุกะ มาประทับและพักที่พระตำหนักภูพิงค์ฯ ในเวลาต่อมา อีกหลายประเทศ เช่น สมเด็จพระนางเจ้าจูเลียน่า และเจ้าชายเบอร์ฮาร์ท จากประเทศเนเธอร์แลนด์ สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง และพระราชินีฟาบิโอล่า แห่งประเทศเบลเยี่ยม ฯลฯ เป็นต้น ส่วนตัวอาคารอื่น ๆ ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง

เพลินภูพิงค์
ทำนอง:
 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค 

สมใจก่อนนี้เคยอยากชมเขางาม
ตามหุบผาพงไพรได้มาเห็นภูพิงค์แพรวพราย
สวยจริงดอกไม้สะพรั่งบานทั้งปี
ดูหลากสีเรียงรายโชยกลิ่นหอมอวลอบชื่นใจ
ดุจจะลอยฟ้าดั่งทิพย์วิมานทอง
แห่งอินทร์พรหมสองเสกสนององค์ท้าวไท
แสนเพลินสุขสมสดับแต่เสียงเพลง
วิหคร้องมาไกลช่วยกล่อมขวัญทุกวันเพลิดเพลิน
สมใจก่อนนี้อยากชมเขางาม
ยามอ่อนแสงรำไพได้ไปถึงดอยปุยเดียวดาย
สูงจริงเสียดฟ้าตระหง่านปานท้าลม
ชมยอดผาเรียงรายคราหมดแสงดวงสุริยา
ดุจจะลอยฟ้าอยู่ชิดเดือนเคียงดาว
โอ้ลมพัดหนาวรวดร้าวรานอุรา
แสนเพลินนั่งล้อมไฟอุ่นฟังเสียงเพลง
ชาวเผ่าเขาครวญมาสนุกเหลือไม่เบื่อภูพิงค์
สุขจริงหนามาเชียงใหม่แดนสรวงแสนเพลิน


พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
โทร.0-5322-3065 โทรสาร.0-5322-5793
อีเมล์ bhubingpalace@yahoo.co.th


*งดเข้าเยี่ยมชมช่วงเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับแรม
*กรุณาแต่งกายสุภาพ ห้ามใส่กางเกงขาสั้น, กระโปรงสั้น, เสื้อแขนกุด

Copyright © 2016 Bhubing Palace. All rights reserved.